อีโบล่า โรคไข้อีโบล่า เกิดขึ้นได้อย่างไร

    โรคไข้อีโบลา คือโรคไข้เลือดออกจากไวรัสอีโบลา ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก อุบัติใหม่ในแอฟริกาเมื่อปี 2519 ขณะที่โรคไข้เลือดออกในเกาหลีเกิดจากไวรัสฮันตาน ส่วนโรคไข้เลือดออกในไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ปากีสถาน ฯลฯ เกิดจากไวรัสเด็งกี

การระบาดครั้งแรกของไวรัสอีโบลา
       
  เมื่อปี 2519         มีการระบาดเป็นครั้งแรกของโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ที่อุบัติใหม่อีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศซูดานและประเทศซาอีร์ ชื่อ "อีโบลา" ชื่อนี้ได้มาจากชื่อแม่น้ำอยู่ตรงบริเวณที่พบโรคในตอนเริ่มแรกคือ ที่แถบลุ่มแม่น้ำอีโบลา ในประเทศซาอีร์ ก็เลยตั้งชื่อโรคและชื่อของไวรัสตัวก่อเหตุตามชื่อแม่น้ำดังกล่าว

ผู้ป่วยดรรชนี (Index case) รายแรกของโลก 26 สิงหาคม 2519 ที่ประเทศ ซาอีร์ แอฟริกา

          ผู้ป่วยรายแรกซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยดรรชนีเป็นชายอายุ 44 ปีเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนมิชชันนารี ไปขอรับการรักษาที่ "โรงพยาบาลมิชชั่นนารียัมบูกุ" ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ด้วยอาการไข้ซึ่งคิดว่าเป็นไข้จับสั่น (มาลาเรีย) และได้รับการรักษาโดยการฉีดคลอโรควิน ซึ่งมีอาการทุเลาขึ้น

          ในเวลาต่อมาภายใน 1 สัปดาห์มีคนไข้ในโรงพยาบาลได้รับการฉีดยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนไข้รายดรรชนีให้หลับ (ปกติเราจะไม่ใช้เข็มฉีดยาที่ยังไม่ได้ฆ่าเชื้อร่วมกัน) หลังจากนั้นก็ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกหลายคน บางรายไม่ได้รับการฉีดยาแต่เป็นผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยอยู่ระหว่าง 4 สัปดาห์แรกของการระบาดหลังจากนั้นโรงพยาบาลจึงได้ปิดการให้บริการเนื่องจากแพทย์ 11 นาย จาก 17 นาย ที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ป่วยและตาย

โรคนี้แพร่โรคติดต่อกันได้จากการสัมผัสกันด้วย เรียกว่ามีการแพร่ติดต่อ จากคน-สู่-คน

ผู้ป่วยเกิดขึ้นทุกกลุ่มอายุและทั้งสองเพศ แต่สตรีอายุระหว่าง 15-29 ปี จะเป็นกลุ่มที่มีความชุก อัตราป่วยชุกกว่ากลุ่มอื่น

          สรุปได้ว่าการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยเกิดจากการถูกเข็มแทงและของมีคมปนเปื้อนเชื้อทำให้เกิดบาดแผลและการแต่งศพ และแพร่โรคติดต่อจาก ผู้ป่วย-สู่-ผู้ป่วย จากการสัมผัสใกล้ชิดได้ด้วย อย่าลืมว่า โรคไข้เลือดออกเด็งกีที่พบในบ้านเรา แพร่ติดต่อได้ เฉพาะโดนยุงลายบ้านที่มีเชื้อกัดเท่านั้น

ประมาณ 5 สัปดาห์ภายหลังการระบาดครั้งแรกที่ยัมบูกุประเทศซาอีร์ นพ.ซูโร ได้ศึกษาลักษณะทางเวชกรรมของผู้ป่วย 14 ราย ดังนี้

          ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ปวดท้อง เจ็บคอ หน้าตาไร้ความรู้สึก มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ในบางรายประมาณวันที่ 5 ของระยะเฉียบพลันของโรค จะมีผื่นขึ้นตามตัวและมีเลือดออกด้วย มีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีแผลตามริมฝีปากและในช่องปาก มีเลือดออกจากแผลดังกล่าว และ ออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือด และ ถ่ายอุจจาระดำเลือด กำเดาไหล มีเลือดออกจากช่องหู ปัสสาวะเป็นเลือด และ บางรายมีอาการตกเลือดหลังคลอดด้วย ในรายที่มีเลือดออกมักจะถึงแก่กรรมภายใน 3 สัปดาห์ผู้ป่วยในระยะหลังของการระบาด อาการเลือดออกจะมีความรุนแรงน้อยลงกว่ารายแรกๆ ของการระบาด ในรายที่มีเลือดออกไม่รุนแรง หรือไม่มีเลือดออกเลย มักจะไม่ถึงแก่กรรม แต่ก็ไม่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ว่ามีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ เนื่องจากเป็นการฉุกเฉิน และเป็นการศึกษาในสนาม อุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยไม่ได้มีครบครัน

จากการสำรวจทุกบ้านพบว่ามีโรคระบาดอยู่ 55 ตำบล (ทั้งหมดมี 550 ตำบล) โรคนี้ไม่เคยเป็นที่รู้จักของชาวบ้านมาก่อนเลย

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ก็สามารถแยกเชื้อไวรัสที่มีรูปร่างคล้ายไวรัสมาร์บวร์กแต่ก็แสดงความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน โดยปฏิกิริยาน้ำเหลือง

         ไวรัสที่พบใหม่นี้ จึงได้รับการขนานนามว่า "ไวรัสอีโบลา (Ebola virus)" ตามชื่อแม่น้ำที่อยู่ในถิ่นที่มีการระบาด และ แยกเชื้อไวรัสได้ การแยกเชื้อไวรัสแยกได้จากเลือดของผู้ป่วย 8 รายจาก 10 รายโดยเพาะในเซลล์เพาะพันธุ์เวโร ไวรัสนี้จึงเรียกว่าไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์หรือ Ebola-Z

อีโบล่า Ebola

จากการที่เพาะแยกไวรัสได้ต่างสายพันธุ์กัน ทำให้แน่ใจได้ว่า การระบาดในประเทศซูดานและในประเทศซาอีร์นั้น ย่อมมิใช่การแพร่ของโรคจากประเทศแรกเข้าไปยังประเทศหลัง ต่างคนต่างเกิด
       
       การระบาดของโรคลดความรุนแรงลงเมื่อมีการหยุดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (กระบอกฉีดยาและเข็มขาดแคลนจึงมีการนำไปใช้ร่วมกันหลายคนหลายครั้ง) และยังมีมาตรการแยกกักกันผู้ป่วยมิให้ออกนอกหมู่บ้านการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างมิดชิดและถูกต้องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล การกำจัดวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อที่ถูกวิธี ก็ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่อไปอีกได้ การติดต่อส่วนใหญ่จะติดต่อจากเลือด การติดจากละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยกว่า และไม่ติดกันโดยทางอากาศหายใจ (air-borne)ไม่สามารถแยกไวรัสได้จากแมลง เช่น ตัวเรือด (Cimexhemipterus F.) ยุงคิวเล็กซ์และยุงแมนโซเนีย ซีรัมของสัตว์ต่างๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สุกร โค ค้างคาว หนู กระรอกลิงไม่พบว่ามีแอนติบอดีต่อไวรัสอีโบลา (หมายความว่าไม่มีการติดเชื้อ) แต่อย่างใด จึงหาแหล่งรังเก็บเชื้อโรคในธรรมชาติไม่ได้ หรือแหล่งรังโรค อยู่ใหนยังเป็นปริศนา
       
       การระบาดครั้งแรกในประเทศซูดานมีผู้ป่วย 284 คนโดยมีอัตราป่วย/ตายเท่ากับร้อยละ 53 เชื้อที่ก่อโรคเป็น ไวรัสเรียกชื่อจำเพาะมากขึ้นว่าอีโบลา-ซูดานหรือสายพันธุ์ซูดาน Ebola-S
       
       อีกไม่กี่เดือนต่อมาโรคก็อุบัติขึ้นที่เมืองยัมบูกุประเทศซาอีร์อีก เชื้อก่อโรคเคือสายพันธุ์ "อีโบลา-ซาอีร์" มีผู้ป่วยในการระบาดครั้งแรก 318 คนอัตราป่วย/ตายสูงกว่า การระบาดในซูดานคือสูงถึงร้อยละ 88 แม้ว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าอย่างมากก็ยังพิสูจน์แหล่งรังโรคที่แน่ชัดไม่ได้อยู่ดี
       
       การระบาดของโรคไข้เลือดออกอีโบลารายงานจากประเทศไอวอรีโคสท์ในปี 2537 โดยมีสตรี นักชาติพันธุ์วิทยา ทำการผ่าตรวจซากลิงชิมแพนซีที่ล้มตายไม่ทราบสาเหตุที่ในป่าชื่อป่าตาย (Tai Forest) ในประเทศไอวอรีโคสท์ เธอจึงติดเชื้อโดยบังเอิญและป่วย สายพันธุ์นี้จึงให้ชื่อว่าอีโบลาโคทดีวัวร์ (ชื่อประเทศไอวอรีโคสท์ที่เป็นภาษาฝรั่งเศส)
       
       ในปี 2532 มีการระบาดของไวรัสอีโบลาในฝูงลิงแสมที่กักกันสัตว์ทดลองที่ไปจากต่างประเทศ ที่สถานีกักกันโรคเมืองเรสตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นลิงแสมที่ส่งไปจากฟาร์มเฟอร์ไลท์ ชานกรุงมะนิลา เป็นลิงที่เพาะไว้จำหน่ายเพื่อใช้เป็นสัตว์ทดลองที่ฟาร์มแห่งหนึ่งบนเกาะมินดาเนา ลิงจะถูกกักกันไว้ก่อนส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่นำโรคจากป่ามาแพร่ในเมือง โดยเฉพาะแพร่สู่นักวิจัยเป็นเบื้องต้น
       
       ในระหว่างกักกันลิงได้ล้มเจ็บลงหลายตัวเกือบทั้งฝูง และมีอัตราตายสูง การสอบสวนและตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็น "ไวรัสอีโบลา" หากลิงติดเชื้อ โรคจะเกิดแก่ลิงที่มีความรุนแรงมาก อัตราตายสูง แม้ว่าจะก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้เหมือนกัน (พิสูจน์ได้จากการตรวจเลือดผู้สัมผัสใกล้ชิดเช่นผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพลิง) แต่กลับไม่ก่อโรคที่มีอาการป่วยดังเช่นสายพันธุ์ซาอีร์และสายพันธุ์ซูดานจึงเรียกชื่อสายพันธุ์ไม่นี้ ว่า "สายพันธุ์เรสตัน" Ebola-R
       
       นอกจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์เรสตันในลิงแสมที่สถานีกักกันสัตว์ในรัฐเท็กซัส และเป็นลิงแสมที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน อีโบลาเรสตันนี่เองที่พบว่าไประบาดอยู่ในสุกรฟิลิปปินส์เมื่อ 2-4 ปีก่อน เหมือนกัน ไวรัสอีโบลาข้ามจากลิงไปหาสุกรได้อย่างไร ก็ยังเป็นปริศนาคาใจกันอยู่
       
       ในปี 2557 เกิดมีการระบาดของอีโบล่า ในแอฟริกาตะวันตกขึ้นอีกจะขอเล่าโดยสังเขปดังนี้
       
       เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศกีนีว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอีโบลาในเขตป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จนถึงวันที่ 25 มีนาคม มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 86 ราย ตาย 60 ราย (อัตราป่วย/ตายเท่ากับ ๖๙.๗%) มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์-สาธารณสุขป่วยและตายด้วย 4 ราย และยังมีรายงานผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยในประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันอีกหลายรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน ชันสูตร ค้นคว้าอยู่อีกหลายราย คือ ในประเทศ ไลเบเรียและ เซียยร่า เลโอนโดยได้ส่งเลือดตัวอย่างไปชันสูตรโดยวิธีพีซีอาร์ที่หอชันสูตรโรคติดเชื้อระหว่างประเทศที่ เมืองลียอง ประเทศฝรั่งเศส ก็ยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ ซาอีร์

ebola-map

แผนที่ประเทศกินี ตรงสีทึบคือบริเวณที่โรคระบาด ที่รายงานเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่สีจางคืออยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค
       
       โรคแพร่ระบาดต่อไปในประเทศกีนี และไปยังประเทศใกล้เคียงดังนี้
       
       สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส Ebola วันที่ 17 เมษายน 2557 ในทวีปแอฟริกา ได้แก่:
       
       ประเทศ Guinea: มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับ Ebola virus Disease จำนวน 202 ราย เสียชีวิต 125 รายและผู้ป่วยยืนยัน 108 ราย
       
       ประเทศ Liberia: มีรายงานผู้ป่วย ที่มีอาการเข้าได้กับ Ebola Virus Disease จำนวน 27 ราย เสียชีวิต 13 รายและผู้ป่วยยืนยัน 6 ราย และ
       
       ประเทศ Mali: มีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย 6 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ
       
       องค์การอนามัยโลก: ไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางหรือการค้ากับประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน แต่อย่างใด
       
       องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ว่า ผู้ป่วยอีโบลาในประเทศกินีเพิ่มขึ้นอีก รวมจำนวนสะสมได้ 208 ราย ตาย 136 ราย เป็นบุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข 25 ราย ตาย 16 ราย
       
       การประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย: สำนักโรคอุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่า การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา อาจมาสู่ประเทศไทยได้ 2 วิธี ได้แก่ จากการนำเข้าสัตว์ที่ อาจเป็นแหล่งรังโรค เช่น สัตว์ป่า ลิงชิมแปนซี หรือการแพร่เชื้อของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จากประเทศนี้จะทำให้มีอาการป่วยโดยที่มีการระบาดโดยผ่านผู้เดินทาง เข้ามาประเทศไทยจากประเทศที่มีโรคกำลังระบาด
       
       โรคนี้ ยังไม่มียาหรือปฏิชีวนะรักษาที่จำเพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค
       
       มาตรการกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย 
       
       1.ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้า จากองค์การอนามัยโลกโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
       
       2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
       
       3.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
       
       ประชาชนชาวไทย ยังไม่ต้องตระหนก เพียงแต่ให้ตระหนักให้รับรู้กันเอาไว้และติดตามข่าวเป็นระยะๆ นะครับ

โดย...ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ
       ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และที่ปรึกษา กรมควบคุมโรค

http://www.star-circuit.com/news/Ebola.html