สุนทรพจน์ หมายถึง

          สุนทรพจน์หมายถึง คำพูดที่ดีงามไพเราะจับใจ การพูดสุนทรพจน์มักมีในงานสำคัญ เช่น พิธีต้อนรับแขกเมืองสำคัญ พิธีได้รับตำแหน่งสำคัญ   สุนทรพจน์เป็นคำสมาส มาจากคำว่า   สุนทร + พจน์  แปลว่า ถ้อยคำที่มีความไพเราะและดีงาม ดังนั้นการพูดสุนทรพจน์จึงต้องเรียบเรียงถ้อยคำให้ไพเราะสละสลวย  ให้ข้อคิดและจรรโลงใจผู้ฟัง
          การพูดสุนทรพจน์จัดเป็นการพูดอย่างเป็นทางการ  ผู้พูดจึงต้องเตรียมเนื้อเรื่องให้เหมาะสมกับโอกาสหรือสถานการณ์ที่       ได้รับเชิญ  ในบางโอกาสก็ใช้การอ่านจากต้นฉบับ  เพื่อให้ผู้ฟังได้รับสารที่จรรโลงใจและสัมผัสถ้อยคำภาษาที่มีความไพเราะ  สละสลวย 

ลักษณะการพูดสุนทรพจน์
      ใช้ถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งกินใจ จับใจ
      โน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม
      กระตุ้นผู้ฟัง มีความมั่นใจและยินดีร่วมมือ
      สร้างบรรยากาศให้เกิดความหรรษาและให้ความสุขแก่ผู้ฟัง 

โครงสร้างทั่วไปของการพูดสุนทรพจน์
     ๑.   ตอนเปิดเรื่อง กระตุ้นให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญของเรื่องที่จะพูด    
     ๒.  ดำเนินเรื่อง ประกอบด้วยเนื้อหาสาระลำดับความสำคัญอย่างชัดเจน
     ๓.  ตอนจบเรื่อง สรุปความทิ้งท้ายให้ผู้ฟังนำไปคิด หรือฝากไว้ในความทรงจำตลอดไป 

โครงสร้างและขั้นตอนของสุนทรพจน์
          คำนำ หรือการเริ่มต้น (Introduction)
          เนื้อเรื่อง หรือสาระสำคัญของเรื่อง (Discussion)
          สรุปจบ หรือการลงท้าย (Conclusion) 
    "ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น ตอนกลางให้กลมกลืน และตอนจบให้จับใจ "

แบ่งโครงสร้างของสุนทรพจน์เป็นสัดส่วน ได้ดังนี้ 
              คำนำ         ๕ - ๑๐ %
              เนื้อเรื่อง     ๘๐ - ๙๐ % 
               สรุปจบ     ๕ - ๑๐ % 

เทคนิคการกล่าวสุนทรพจน์
          1. กล่าวนำอาจจะยกเหตุการณ์สำคัญอาจจะยกเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เริ่มต้นให้น่าสนใจ
          2. ในส่วนเนื้อหานั้นกล่าวแล้วต้องแบ่งประเด็นและอาจจะมีการยกตัวอย่าง การยกตัวอย่างจะทำให้น่าสนใจ
          3. สุดท้ายคือการลงท้าย การลงท้ายจะเรียกคะแนนสุดท้ายของกรรมการได้จะมียกกลอน
          4. เทคนิคขึ้นต้นกับลงท้ายอย่าใช้เทคนิคเดียวกันจะหน้าเบื่อ เริ่มพูดก็ขึ้นกลอนให้เร้าใจ กรรมการหรือผู้ฟังเริ่มสนใจตอนขึ้นต้น ถ้าขึ้นเป็นบทกวีลง
          ท้ายไม่ต้องเป็นบทกวี แต่ถ้าตอนขึ้นต้นอาจจะพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน พอลงท้ายอาจจะลงท้ายด้วยคำคมภาษิต ข้อคิดเตือนใจ หรือจะเป็นการเน้นย้ำจำเป็น
ที่จะต้องจดจำทิ้งท้ายว่าอย่าง ก็เป็นเรื่องของการเตรียมขั้นตอน ของการกล่าวสุนทรพจน์

 

“คำกล่าวสุนทรพจน์ของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี”
ในพิธีเปิดงานมหัศจรรย์เด็กไทย มหกรรมปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ศูนย์แสดงสินค้า
และการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้บริหารการศึกษา
คณาจารย์  นักเรียน  นักศึกษา
และผู้มีเกียรติทุกท่าน
         ผมมีความยินดี และมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานมหัศจรรย์เด็กไทย มหกรรมปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งได้มาชื่นชมผลงานที่เกิดจากความสามารถของนักเรียนจากทุกภูมิภาคของประเทศ  ในวันนี้
        เรามีความเชื่อมั่นกันแน่นอนว่า เด็กไทยมีความมหัศจรรย์ในตัวเอง มีการเรียนรู้ จินตนาการ และมีพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ และเด็กยิ่งได้รับการศึกษาอบรม ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากครอบครัว สถานศึกษาและทุกภาคส่วนของสังคมมากเพียงใด ก็ยิ่งจะทำให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และมีความรู้ความสามารถมากขึ้นมากเพียงนั้น เป็นทรัพยากรบุคคลที่พร้อมจะทำคุณประโยชน์และสร้างสรรค์จรรโลงสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า สืบต่อไป  
       การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทุกด้าน รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานให้มีความเข้มแข็ง ทั้งส่งเสริมการขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานออกไปให้ทั่วถึง เพิ่มเงินอุดหนุนมากกว่า 14,564 ล้านบาท ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ บรรจุอัตราข้าราชการครูและพนักงานราชการกว่า 1,700 อัตรา เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู สนับสนุนให้นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 5,000 คน ไปปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู พัฒนาครูที่สอนไม่ตรงวุฒิการศึกษากว่า 30,000 คน และจัดสรรงบประมาณกว่า 22,800 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินวิทยฐานะให้แก่ครูที่มีผลงานในการจัดการเรียนการสอนได้มาตรฐานวิชาชีพ  เป็นต้น
       อย่างไรก็ตาม นโยบายคุณธรรมนำความรู้ยังเป็นหลักชัยในการจัดการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ให้ความสำคัญกับการนำเรื่องคุณธรรมไปใช้ควบคู่กับความรู้ ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาทุกแห่งก็ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักคุณธรรม 8 ประการ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ ไปใช้ในการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อปลูกฝังให้หยั่งรากลึกไปสู่วิถีชีวิตของคนไทยต่อไป
        การนำเสนอผลงานของเยาวชนในวันนี้ นอกจากจะทำให้ได้เห็นถึงความรู้ ความสามารถของเด็กและเยาวชนของเราแล้ว ยังทำให้เราได้รับทราบว่ามาตรการที่กล่าวมานั้น ได้ส่งผลให้งานการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความก้าวหน้ามากขึ้น
        อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจ  สังคม และเทคโนโลยี ไม่ได้ส่งผลเฉพาะ ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของประชาชนต้องพัฒนาและปรับตัวมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่การจัดการศึกษาก็จำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อเพิ่มพูนทักษะให้   ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย  และการจะทำงานในด้านต่างๆ ดังกล่าวให้ได้ผลนั้น  ทุกฝ่ายจะต้องมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
       ในโอกาสนี้ ผมมีประเด็นที่ขอฝากให้ท่านผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำไปพิจารณา  ดังนี้
ประการแรก ขอให้ผู้บริหาร ครู และชุมชน  น้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวในเรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”เป็นหลักในการจัดการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสที่ยังอาจตกหล่นในหลายพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ขอให้ปรับหลักสูตร หรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางพื้นฐานเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ให้มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างในโอกาสและเพิ่มคุณภาพการศึกษา ของกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ประการที่สอง ขอให้ส่งเสริมให้นักเรียนซึ่งได้เรียนรู้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนแล้ว  นำหลักการนี้ไปสู่การดำรงชีวิต และการตัดสินใจ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติสืบต่อไปด้วย
ประการสุดท้าย ขอให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง เช่น การช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนออกไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ เพื่อทำให้การเมืองของเรามีความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และร่วมกันปลูกฝังวิถีชีวิตประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในครอบครัว โรงเรียน และในสังคมโดยรวม
ผมขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้จัดงานมหัศจรรย์เด็กไทย มหกรรมปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน   ในวันนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการรายงานผลการปฏิรูปการศึกษา ขั้นพื้นฐานให้สาธารณชนได้รับทราบแล้ว ยังเป็นเวทีให้นักเรียนและโรงเรียนได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันอีกด้วย
ผมขอแสดงความชื่นชมผลงานของเด็กและเยาวชน ไทยซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในหลายๆ ด้าน พร้อมทั้ง ขอขอบคุณผู้ปกครอง   ครู  อาจารย์  ผู้บริหาร  ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นเด็กดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข อันจะเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่สังคมไทย สืบต่อไป
บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดงาน มหัศจรรย์เด็กไทย  มหกรรมปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ณ บัดนี้ ขออวยพรให้การจัดงานบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ  และขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีพลังกาย  พลังใจ และพลังปัญญา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้ารุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป