ส่วนประกอบของเพาเวอร์ซัพพลาย

          เพาเวอร์ซัพพลายประกอบด้วย ส่วนต่าง ๆ มากมาย และเป็นส่วนประกอบที่ทำงานด้วยไฟแรงสูง จึงไม่ควรถอดรื้อด้วยตนเองส่วนประกอบของเพาเวอร็ซัพพลายพอจะแสดงให้เห็นได้คร่าว ๆ ดังนี้

          "ตัวกล่อง" ตัวกล่องจะทำด้วยโลหะยึดติดกันด้วยสกรู มีรูปร่างและขนาดซึ่งอาจจะต่างกันไป สำหรับเคสแต่ละตัว แต่ละชนิดมีหน้าที่ปกปิดส่วนประกอบภายในที่อันตรายต่อการจับต้องและป้องกันสัญญาณความถี่สูงออกมารบกวนภายนอก

          "เต้าเสียบสายไฟ" ปกติแล้วเพาเวอร์ซัพพลายจะมีช้องสำหรับเสียบสายที่ต่อเข้ากับปลั๊กไฟบ้าน แยกไว้ต่างหากเพื่อสะดวกกับการถอดใส่ในบางรุ่นจะมีช่องสำหรับต่อพ่วงสายไฟเลี้ยงจอภาพให้อีกต่างหากเพื่อผ่านสวิทซ์ตัวเดียวกันกับตัวเครื่อง แต่เมื่อมาถึงยุค ATX ซึ่งมีคุณสมบัติ Soft Power ช่องต่อพ่วงนี้ก็ได้หายไปเนื่องจากไม่มีการตัดต่อไฟเลี้ยงกันจริง ๆ คุณสมบัตินี้ในปัจจุบันได้กลับมาใหม่โดยเป็นการต่อพ่วงกับสายไฟที่เสียบเข้าโดยตรงนั่นเอง คือ ไม่ผ่านสวิทซ์ใด ๆ ทั้งสิ้นทั้งนี้ก็เพียงพอเพื่อความสะดวกในการใช้งานจอภาพเท่านั้น

          "สวิทซ์ปิดเปิด" ในสมัยก่อนสวิทซ์ที่ตัวเครื่องจะต่อพ่วงกับเพาเวอร์ซัพพลาย เมื่อกดเปิด ไฟสลับจะผ่านเข้าไปจ่ายให้กับวงจรจริง ๆ แต่ในเมนบอร์ดและพาวเวอร์ซัพพลายแบบ ATX สวิทซ์หน้าเครื่องจะต่อเข้ากับขั้วต่อสัญญาณบนเมนบอร์ดซึ่งจะส่งสัญญาณไปให้เพาเวอร์ซัพพลายปิดเปิดการจ่ายไฟอีกทีหนึ่ง เพาเวอร์ซัพพลายชนิดนี้บางตัวจึงมีสวิทซ์อยูที่กล่องเพาเวอร์ซัพพลายเองต่างหากอีกตัวหนึ่ง เพื่อใช้ปิดเปิดการทำงานของเพาเวอร์ซัพพลายเช่นเดียวกับสวิทซ์ที่ตัวเครื่องในสมัยก่อน

          "สวิทซ์เลือกแรงดัน" ที่กล่องเพาเวอร์ซัพพลายส่วนใหญ่จะมีสวิทซ์สำหรับเลือกแรงดันที่จะต่อเข้ากับเพาเวอร์ซัพพลายว่าเป็น 220 หรือ 110 โวลต์ ซึ่งจะต้องเลือกให้ถูกต้องตรงกับการใช้งาน ถ้าเลือกผิดอาจจะทำให้เกิดการชอร์ตหรือระเบิดได้ เพาเวอร์ซัพพลายราคาถูกอาจจะไม่มีสวิทซ์ให้เลือกและออกแบบมาให้ใช้กับแรงดันไฟระดับเดียวเท่านั้น

          "วงจรแปลงไฟ" ภายในกล่องจะประกอบไปด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่แปลงไฟและรองรับการทำงาอื่น ๆองเพาเวอร์ซัพพลายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

          "พัดลม" นอกจากนี้ในกล่องยังจะมีพัดลมสำหรับทำหน้าที่ระบายอากาศอยู่ด้วย โดยมากจะเป็นพัดลมขนาด 3 หรือ 4 นิ้ว แล้วแต่ขนาดของเพาเวอร์ซัพพลาย และทำงานด้วยไฟ 12 โวลต์ พัดลมในเพาเวอร์ซัพพลายและพัดลมที่ใช้คิดเพิ่มเติมกับตัวเครื่องจะมีลักษณะเดียวกัน ข้อแตกต่างระหว่างพัดลมราคาถูกกับราคาแพงก็คือ ลูกปืนของมอเตอร์ที่ใช้ ซึ่งของราคาถูกจะใช้ sleeve bearing ที่มักจะติดขัดได้ง่ายหลังจากที่ใช้ไปไม่กี่ปี ในขณะที่แบบหลังจะใช้ ball bearing ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า
          พัดลมมักเป็นส่วนที่เสียก่อนเพื่อน เพราะการที่หมุนอยู่ตลอดเวลาทำให้ฝุ่นผงเข้าไปจับและทำให้เกิดติดขัด ผลคือมอเตอร์อาจทำงานหนักจนเสียได้ และเมื่อหยุดทำงานก็จะทำให้ขาดการระบายความร้อนและเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามมา

         "ฟิวส์ (Fuse)" ส่วนใหญ่ภายในกล่องเพาเวอร์ซัพพลายจะมีฟิวส์ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากการใช้ไฟ เกิดขนาด ซึ่งมักจะเกิดจากความเสียหายภายในตัวเพาเวอร์ซัพพลายเอง เพราะส่วนใหญ่แล้วเพาเวอร์ซัพพลายจะมีระบบป้องกันการจ่ายไฟเกินอยู่แล้ว โดยที่หากมีการจ่ายกระแสมากเกิดกำหนดก็จะตัดไฟไม่ให้จ่ายออกมาทำให้ลดความเสียหายลงได้ แต่ถ้าเกิดการชอร์ตภายในตัวเพาเวอร์ซัพพลายเองก็จะต้องอาศัยฟิวส์เป็นตัวป้องกัน ซึ่งถ้าฟิวส์ขาด โอกาสที่จะเปลี่ยนฟิวส์ใหม่แล้วใช้ได้นั้นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะว่าวงจรภายในตัวเพาเวอร์ซัพพลายเองมีปัญหาแล้ว

คำเตือน จะเห็นได้ว่าไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะพยายามเปิดกล่องเพาเวอร์ซัพพลายออกมาซ่อมแซม จึงไม่แนะนำให้ทำเพราะอันตรายเป็นอย่างยิ่ง