ระบายความร้อน CPU

         หลายท่านคงจะเคยสงสัยว่า ทำไมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ จึงเกิดปัญหาโน้นนี่เป็นประจำ หรืออุปกรณ์บางตัวมีอายุการใช้งานที่สั้นเกินควร สาเหตุใหญ่ข้อหนึ่งที่ก็คือ การจัดวางอุปกรณ์ภายในเคส ที่ไม่เอื้อต่อการไหลเวียนอากาศภายในเคสที่ดีพอนั่นเอง และทำให้เกิดความร้อนภายในเคส จนเป็นสาเหตุทำให้อุปกรณ์บางตัวเสื่อมสภาพเร็ว

     การไหลเวียนอากาสภายในเคสนั้น มีความสำคัญต่อความเสถียรในการทำงาน และอายุการใช้ของอุปกรณ์ภายในเครื่องเป็นอย่างมาก ดังนั้นสำหรับ Practice by Lemel ฉบับนี้ผมจึงขอแนะนำวิธีการปรับปรุงให้การไหลเวียนอากาศภายในเคส โดยใช้หลักการง่ายๆให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตัวเอง โดยใน ที่นี้ผมจะขอใช้เคสรุ่น LM-CASE-P-01 จาก Lemel มาใช้ประกอบการสาธิตการปรับปรุงการไหลเวียนอากาศภายในเคสให้ได้ชมกันนะครับ
     อ้างอิงจากการออกแบบการไหลเวียนอากาศภายในเคส Chassis Air Guide (CAG) ของ Intel การไหลเวียนของอากาศภายในเคสที่ดีและถูกต้อง จะต้องมีสภาพการไหลเวียนดังที่แสดงในภาพ

CPU cooling

          คราวนี้เรามาดูกันว่า เราจะจะมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศที่ดีอย่างนี้ได้บ้าง
1. เลือกใช้เคสที่เหมาะสมกับความต้องการ
    ชนิดของเคสมีผลกับการจัดการการไหลเวียนอากาศภายในเคสเป็นอย่างมาก เคสที่ใหญ่และกว้างขวางแบบ Full-Tower     ก็ย่อมจะมีโอกาสในการปรับการไหลเวียนอากาศภายในได้ดีกว่าเคสขนาดย่อมลงมาอย่าง Mini-Tower หรือแบบ Bare-Bone แต่ก็ต้องแลกกับเนื้อที่การจัดเก็บที่ต้องการมากกว่า     แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะนำไปใช้ด้วย
2. จัดอุปกรณ์ภายในเคสให้เป็นระเบียบ และอยู่ในที่เหมาะสม
    การไหลเวียนอากาศที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีอุปกรณ์ภายในไปบังและปิดกั้นการไหลเวียน โดยเฉพาะสายต่อต่างๆที่โยงใยอยู่ภายในเคสนั้น ควรจะมีการจัดระเบียบสายภายในให้เรียบร้อย     โดยใช้ไส้ไก่พันรอบสายต่อ และเก็บให้ชิดขอบเคส นอกจากนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการจัดวางอุปกรณ์ที่มีความร้อนสูงให้อยู่ใกล้กันด้วย เช่น ถ้ามี harddisk อยู่ 2 ตัวในเครื่อง     ก็ควรจัดให้มีช่องว่างห่างกันพอสมควรด้วย
3. ปิดรูต่างๆของ slot ด้านหลังเคส
    การไหลเวียนอากาศภายในเคสจะเกิดขึ้นได้ดี เมื่อมีอากาศไหลเข้าที่ที่ควรจะเข้าซึ่งหมายถึงด้านหน้าและด้านข้างของเคส และไหลออกในที่ที่ควรจะออกซึ่งหมายถึงด้านหลังของเคสเท่านั้น     ดังนั้นการปิดรูต่างๆที่เปิดทิ้งไว้ตรง slot ด้านหลังของเคส จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศไหลออกในที่ที่ไม่ควรออก ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนอากาศภายในเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพิ่มเติม
    การติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพิ่มเติม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนอากาศภายในเคสได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะเพิ่มเสียงรบกวนขึ้นมาบ้าง     แต่ก็ทำให้สุขภาพของชิ้นส่วนภายในเครื่องของคุณดีขึ้นได้ พัดลมระบายอากาศเพิ่มเติมก็มีให้เลือกติดตั้งได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ยึดติดกับ bay drive     ด้านหน้าของเคสเพื่อดูอากาศเย็นภายนอกเข้าไป หรือแบบเสียบติดกับ slot ด้านหลังเครื่องเพื่อระบายอากาศร้อนภายในออกไป
5. ทำความสะอาดภายในเคส
    การไหลเวียนอากาศที่ดีภายในเคสจะไม่บังเกิดผลใดๆเลย ถ้าชิ้นส่วนภายถูกฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเกาะไปซะก่อน ซึ่งนั่นจะทำให้การระบายความร้อนจากชิ้นส่วนภายในเป็นไปได้ยาก     ทางที่ดีคุณควรจะมีการเช็ดทำความสะอาดชิ้นส่วนภายในด้วยบ้าง แนะนำว่าปีละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
6. ปิดฝาเคสในขณะใช้ตลอดเวลา
    หลายๆท่านเข้าใจผิดว่า การเปิดฝาเคสไว้จะเป็นการระบายความร้อนภายในเครื่องได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นกลับเป็นการตัดการไหลเวียนอากาศภายในอย่างสิ้นเชิง     ทำให้อากาศบริเวณชิ้นส่วนต่างๆในเครื่องเป็นอากาศที่นิ่ง ไม่มีการไหลเวียนใดๆเกิดขึ้น ซึ่งมีผลมากกับชิ้นส่วนที่ไม่มี heat sink ช่วยในการระบายความร้อน     นอกจากนี้ยังเป็นการเชื้อเชิญให้ฝุ่นละอองภายนอกมาเกาะชิ้นส่วนภายในได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
7. จัดวางเคสให้อยู่ในที่ที่มีอากาศไหลเวียนได้ดี
    นอกจากการไหลเวียนอากาศที่ดีภายในเคสเองแล้ว การไหลเวียนอากาศที่ดีภายนอกเคสก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน คุณควรจะวางเคสในห้องที่มีการไหลเวียนอากาศที่ดี     อย่าวางไว้ชิดกับผนังจนเกินไป โดยเฉพาะด้านหลังเคส ที่จะเป็นทางระบายอากาศออกจากเครื่อง
           ด้วยวิธีง่ายๆที่คุณสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเองดังที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยปรับปรุงการไหลเวียนอากาศภายในเคสของคุณ ทำให้สามารถระบายความร้อนสะสมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์ของคุณได้เป็นอย่างดี และเช่นเคยครับหากคุณกำลังมองหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์คุณภาพสูง ราคาประหยัด อย่าลืมคิดถึง Lemel นะครับ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ

http://www.star-circuit.com/article/COMPUTER/CPU-cooling.html