ฝุ่นในเลนส์ ทําไง

          นอกจากเรื่องฝาเรื่องราที่เป็นปัญหาของการใช้เลนส์แล้ว ฝุ่นก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างปัญหาให้ผู้ใช้รำคาญใจ บางท่านก็เกรงว่าฝุ่นจะทำให้คุณภาพของเลนส์ลดลง ปล่อยคาไว้ก็บาดตาบาดใจ จะส่งล้างก็กลัวเลนส์ซ้ำ กลัวว่าคุณภาพจะไม่เหมือนเดิม แล้วจะทำอย่างไร ?

บางท่านแก้ปัญหาด้วยการขายเลนส์ตัวนั้นแล้วไปซื้อเลนส์ตัวใหม่แทน ...ลงทุนกันขนาดนั้น ตอนซื้อก็ส่องแล้วส่องอีก จนคนขายส่ายหน้า...ระอาใจ โดยเฉพาะเมื่อเจอคำถามว่า “มีอีกตัวมั้ย ตัวนี้ฝุ่นเยอะ ทำไมเลนส์ใหม่ยังมีฝุ่นอีกใหม่แกะกล้องหรือเปล่าเนี่ย”

เจอแบบนี้ก็ปวดกบาลล่ะครับ เพราะความคาดหวังของผู้ซื้อบางรายนั้นสูงไปหน่อย คิดว่าเลนส์ใหม่ที่ผลิตออกมาโรงงานอันทันสมัยไม่น่าจะมีฝุ่นเข้าไปได้ สำหรับเลนส์ไวด์หรือซูมไวด์อาจไม่เป็นปัญหานัก เพราะหากเป็นฝุ่นเม็ดเล็กๆ มักจะส่องไม่เห็น แต่เลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์ซูม อย่างเช่น 70-200 มม. f/2.8, 80-200 มม. f/2.8 นั้น หากยกส่องกับหลอดไฟหรือกับฉากขาวที่สว่างๆ จะมองเห็นฝุ่นชัดเจน แม้เป็นฝุ่นขนาดเล็ก ทำให้ผู้ซื้อบางรายไม่เชื่อว่าเป็นของใหม่แกะกล่อง

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้ลองได้เล่นเลนส์มามาก บอกได้เลยครับว่าจะหาเลนส์ใสสะอาดปราศจากฝุ่นนั้นยากมาก แม้จะเป็นเลนส์ใหม่แกะกล่องซิงๆ ก็มักจะมีฝุ่นในเลนส์แทบทุกตัว เพียงแต่มันจะเป็นฝุ่นเม็ดเล็กๆ จำนวนเล็กน้อยติดอยู่บนผิวเลนส์ชิ้นในๆ ซึ่งถ้าเป็นนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์จะทราบดีว่ามันไม่ได้มีผลอะไรกับภาพเลย และก็เป็นปกติที่ผู้ซื้อควรจะทำใจยอมรับเพราะจะหาเลนส์ที่ใสปิ๊งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

บางท่านอาจสงสัยว่า ในเมื่อขั้นตอนการผลิตพิถีพิถันขนาดนั้น ผลิตและประกอบในห้องที่กันฝุ่นเต็มที่ ทำไมยังมีฝุ่นได้ เรื่องนี้ตอบได้เลยครับว่า จากที่เคยไปดูโรงงานผลิตเลนส์มาหลายแห่ง ทั้งเลนส์ดังจากค่ายเยอรมันและเลนส์สัญชาติญี่ปุ่น โรงงานสะอาดจริง ป้องกันฝุ่นดีจริง แต่ถ้าจะระบุถึงขนาดที่ปราศจากฝุ่นนั้นเป็นไปไม่ได้ครับ เลนส์ไม่ได้ผลิตในห้องเล็กๆ ที่สามารถควบคุมฝุ่นได้ 100% แต่มันอยู่ในห้องขนาดใหญ่ ในอาคารขนาดใหญ่ที่รวมขั้นตอนการผลิตไว้หลายขั้น แม้ว่าขั้นตอนการประกอบจะอยู่ในห้องสะอาด มีการใช้สเปรย์ลมเป่าชิ้นเลนส์ก่อนผนึกลงบล็อกแต่ละชุด ก็ยังมีโอกาสที่ฝุ่นอาจจะเล็ดรอดเข้าไปได้ โดยเฉพาะที่บล็อกยึดชุดเลนส์ ตอนประกอบเสร็จก็ใสสะอาดดีอยู่ แต่เมื่อผ่านการขนส่ง ฝุ่นที่ติดกับบล็อกหรือตามร่องเกลียวอาจจะหลุดมาแปะติดบนชิ้นเลนส์แทน และมันก็มักจะไม่ขยับไปไหนอีกแล้ว ทำให้เลนส์ใหม่ก็มีฝุ่นได้

ควรใส่ใจเรื่องฝุ่นในเลนส์ใหม่ขนาดไหน ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องใส่ใจ แต่ควรดูว่าฝุ่นนั้นมากน้อยเพียงใด และน่าจะมีผลกับคุณภาพหรือไม่

หากเป็นฝุ่นผงขนาดเล็กๆ จำนวนเล็กน้อย ก็ไม่ต้องใส่ใจกับมันมากนัก เพราะไม่มีผลกับคุณภาพแน่นอน แต่ถ้าเป็นฝุ่นเม็ดเป้งๆ ขนาดที่มองเห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องเพ่งก็ควรจะใส่ใจ อาจจะไม่ใช่เรื่องการทำให้คุณภาพลดลง แต่มันจะมีผลต่อจิตใจ เพราะดูแล้วรำคาญตา และอาจมีผลเมื่อขายต่อ จะทำให้ขายยาก ครั้นจะต้องส่งล้างก็ใช่ที่หากเป็นกรณีนี้ควรขอเปลี่ยนเลนส์ตัวใหม่จากร้าน

ส่วนเลนส์มือสองนั้นเรื่องของฝุ่นจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดีว่าเลนส์ใหม่เพราะมันทำให้คุณภาพของเลนส์ลดลงได้ การตรวจสอบจึงต้องพิถีพิถันกว่าเลนส์ตัวใหม่ ดังนี้

ปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก เลนส์ที่ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้ว หากซีลกันฝุ่นไม่ดีพอ หรือผู้ใช้นำไปใช้ในสภาพฝุ่นเยอะๆ บ่อยครั้งก็อาจทำให้ก็อาจทำให้ฝุ่นผงขนาดเล็กเข้าไปเกาะบนผิวเลนส์ได้ ปริมาณฝุ่นมากๆ เช่นนี้จะทำให้ความใสของชิ้นเลนส์ลดลง การส่องผ่านของแสงน้อยลงจึงทำให้ความคมชัดของภาพลดลง ความใสของภาพลดลง โดยเฉพาะเมื่อถ่ายย้อนแสงจะเห็นผลได้ชัดว่าภาพที่ได้จะฟุ้งๆ ฝ้าๆ ไม่ใสเหมือนเลนส์ปกติ และทำให้เกิดแสงฟุ้งมากกว่าปกติ ภาพจะเสียคอนทราสต์ ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่องสี ความอิ่มตัวของสีจะลดลงแบบเห็นได้ชัด

การตรวจสอบทำได้โดยยกเลนส์ส่องไปที่สว่างๆ เช่น หลอดไฟ (หลอดไส้จะสังเกตได้ง่ายกว่าหลอดฟลูออเรซเซนต์) หรือท้องฟ้า เปิดรูรับแสงกว้างสุดเพื่อให้มองเห็นชิ้นเลนส์ภายในเต็มชิ้นทั้งหมด เลนส์บางยี่ห้อบางรุ่นที่รูรับแสงจะหรี่มาแคบสุด จะต้องเขี่ยกระเดื่องไดอะแฟรมที่ด้านท้ายเลนส์คาไว้ให้ไดอะแฟรมเปิดกว้างสุด

มองผ่านเข้าไปหากเห็นฝุ่นเม็ดละเอียดเป็นผื่นเต็มผิวเลนส์ และชิ้นเลนส์ดูไม่ใสปิ๊ง ก็แน่ใจได้ว่าน่าจะมีผลต่อคุณภาพ เพียงแต่มันยังไม่น่ากลัวเท่าฝ้าเพราะความใสของชิ้นเลนส์ไม่ได้ลดลงมากนักและล้างออกได้ (โดยช่างมืออาชีพ) หากเป็นชิ้นเดียวก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามีฝุ่นแบบนี้ 2-3 ชิ้นขึ้นไป คุณภาพลดลงแน่

ขนาดของฝุ่นกับขนาดชิ้นเลนส์ โครงสร้างทางออฟติคของเลนส์ จะประกอบด้วยชิ้นเลนส์หลายชิ้น คือมีตั้งแต่ 4 ชิ้นไปจนถึง 24 ชิ้น ชิ้นเลนส์ในชุดก็มีหลายขนาด เลนส์ชิ้นหน้าจะมีขนาดใหญ่สุด ส่วนชิ้นที่อยู่ติดกับไดอะแฟรมจะมีขนาดเล็กสุด หากฝุ่นไปเกาะติดกับเลนส์ชิ้นหน้าๆ ที่มีขนาดใหญ่ เช่นชิ้นเลนส์ของซูมขนาด 70-200 มม. f/2.8 ถึงจะเป็นฝุ่นเม็ดใหญ่ๆ ขนาด 1 มม. มันก็แทบไม่มีผลอะไรกับภาพ แต่ถ้าฝุ่นขนาดเดียวกันเข้าไปอยู่บนผิวชิ้นเลนส์ชิ้นเล็กๆ ด้านในสัก 2-3 เม็ดก็อาจมีผลกับภาพได้

ทางยาวโฟกัสของเลนส์ก็มีผลกับเรื่องฝุ่น กับเลนส์เทเลโฟโต้หรือเทเลซูม เรื่องฝุ่นไม่เป็นปัญหาเท่ากับเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ซูมมุมกว้าง เพราะเลนส์มุมกว้างจะมีขนาดชิ้นเลนส์เล็กกว่า เลนส์ชุดในที่ใกล้กับไดอะแฟรม อาจมีเลนส์ผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 ชม. หากมีฝุ่นเม็ดใหญ่ๆ มาเกาะติดผิวเลนส์อาจมีผลต่อคุณภาพได้

ตำแหน่งของฝุ่น เรื่องนี้อาจทำให้หลายท่านสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกันด้วยหรือ คำตอบก็คือ เป็นปัจจัยที่มีผลครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นฝุ่นขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น 1-2 มม. แล้วไปเกาะกับชิ้นเลนส์ด้านในที่อยู่ติดกับไดอะแฟรม หากฝุ่นเกาะอยู่กลางชิ้นเลนส์อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะครับ

สมมุติว่าฝุ่นขนาด 1 มม. (ซึ่งเป็นขนาดที่พบเจอได้ในเลนส์) ไปเกาะติดกับชิ้นเลนส์ชุดในที่ติดกับไดอะแฟรม หากเปิดรูรับแสงกว้าง มันอาจไม่มีผลอะไรต่อภาพ แต่ถ้าเปิดรูรับแสงแคบขนาดของเม็ดฝุ่นจะใกล้เคียงกับขนาดไดอะแฟรมที่หรี่ลงมา หากเป็นเลนส์มุมกว้างเมื่อเปิด f/22 ขนาดไดอะแฟรมอาจอยู่ที่ 1.5-2 มม. เท่านั้น หากแสงถูกฝุ่นบังไป 1 มม. จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นตำแหน่งของฝุ่นจึงอาจมีผลกับคุณภาพได้ ก่อนซื้อเลนส์จึงควรตรวจสอบด้วยการหรี่รูรับแสงแคบสุด แล้วมองชิ้นเลนส์ไปยังหลอดไฟ หากมีเม็ดฝุ่นเกาะตรงกับช่องไดอะแฟรมในตำแหน่งเลนส์ชิ้นใน ก็ควรหลีกเลี่ยงเลนส์ตัวนั้น

อย่างไรก็ตามเรื่องของฝุ่นกับเลนส์เป็นของคู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ดังนั้นจึงไม่ควรวิตกกังวลเกินไป เพราะเลนส์ตัวไหนก็มีฝุ่นด้วยกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งเลนส์ที่คุยว่าซีลกันความชื้น กันละอองน้ำ และกันฝุ่นมาอย่างดีก็ตาม ฝุ่นมันยังมีเล็ดรอดเข้าไปจนได้ เลนส์ที่ใสสะอาดปราศจากฝุ่นก็คือเลนส์ที่เก็บอยู่แต่ในตู้เก็บความชื้นหรือเลนส์ที่เพิ่งส่งล้างมา เพราะหากนำออกไปใช้งานเมื่อใดฝุ่นก็จะเข้าไปได้อย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้น และไม่ควรจะวิตกจนถึงขนาดส่งเลนส์ไปล้างทั้งที่มีฝุ่นเพียงเล็กน้อย
 

http://www.star-circuit.com/article/COMPUTER/Dust-in-the-lens.html