การทำน้ำตาลโตนดเป็นอาชีพดั้งเดิมเก่าแก่ของคนเพชรบุรี ส่วนใหญ่ผู้ประกอบอาชีพนี้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และบางครอบครัวไม่มีสืบทอด ดังนั้นควรจะช่วยกันอนุรักษ์และให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของอาชีพทำน้ำตาลโตนด
ขั้นตอน/ วิธีการของภูมิปัญญา
การเตรียมต้นตาล ตาลตัวผู้จะใช้ไม้คาบนวดจั่นเบาๆวันละครั้งประมาณ 3-4 วัน ส่วนตาลตัวเมียจะใช้ไม้คาบนวดจั่นระหว่างลูกเบาๆวันละครั้ง ประมาณ 3 วันจากนั้นใช้มีดปาดตาลดูว่ามีน้ำตาลไหลซึมออกมาหรือไม่ หากมีแสดงว่าเริ่มเก็บน้ำตาลได้
การรองน้ำตาล จะรองในช่วงเช้าและเก็บน้ำตาลช่วงเย็นหรือรองน้ำตาลช่วงเย็นเก็บในช่วงเช้าของวันถัดไป โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ใส่พะยอมสับเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลบูดเน่า
การเคี่ยวตาล หลังจากรองน้ำตาลมาแล้ว นำมารองด้วยผ้าเพื่อเอาเศษไม้พะยอม แมลงออก เทลงกระทะเหล็กใบใหญ่ เคี่ยวให้เดือด หากจะทำเป็นน้ำตาลสดก็เคี่ยวพอเดือด ปรุงแต่งกลิ่นด้วยใบเตยและกรอกใส่ขวดจำหน่ายๆได้ หากทำเป็นน้ำตาลปึกก็เคี่ยวต่อไปอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง จนน้ำตาลแก่ข้นแดง ฟองน้ำตาลจะรวมกันยกลงจากเตา คนให้เข้ากันโดยใช้เหล็กกระแทกเมื่อได้ที่ตักใส่พิมพ์น้ำตาลปึกที่ทำเป็นหลุมรองด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ใส่ถุงจำหน่าย
ภูมิปัญญามีประโยชน์ทางการเกษตร
เป็นการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมให้กับเกษตรกรควบคู่กับการทำนาข้าวเพราะปลูกริมคันนา
ตาลโตนดใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น อาหาร และ ขนมหวาน
ตาลโตนดใช้เป็นหลักในการแบ่งเขตของคันนาและสามารถเสริมความแข็งแรงของคันนาได้
สิ่งเหลือใช้จากตาลโตนดสามารถนำมาใช้ในการเกษตร เช่น เปลือกใช้ในการทำปุ๋ยหมัก ผลสุก สามารถนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงหมู วัว ได้ รวมถึงสรรพคุณทางบาในต้นตาล
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=zeroinspace&month=10-2020&date=21&group=1&gblog=4