กระดูก เป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ในการค้ำจุนร่างกาย ช่วยในการเคลื่อนไหว เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย และปกป้องอวัยวะภายใน อาทิ สมอง หัวใจ ปอด ฯลฯ ไม่ให้ได้รับอันตรายหรือกระทบกระเทือน และไขกระดูกในกระดูกยังช่วยในการผลิตเม็ดเลือดด้วย
ร่างกายของคนที่เติบโตเต็มที่จะมีกระดูกประมาณ 206 ชิ้น ประกอบด้วยกระดูกแกนและกระดูกรยางค์ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป กระดูกแกนอยู่ตรงกลางของร่างกาย มีหน้าที่ในการเป็นหลักให้แก่ร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง ซี่โครง กะโหลกศีรษะ ฯลฯ ส่วนกระดูกรยางค์คือกระดูกที่ยื่นออกมาจากกระดูกแกน เช่น กระดูกแขน กระดูกขา กระดูกเชิงกราน ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวอวัยวะตามตำแหน่งต่างๆ
ทั้งที่กระดูกมีความสำคัญต่อร่างกายขนาดนี้แต่เรามักมองข้ามความสำคัญของกระดูกไปและดูแลบำรุงกระดูกไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ทั้งโรคกระดูกพรุน โรคข้อเสื่อม ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏเมื่ออายุมากขึ้น ถ้าไม่อยากประสบปัญหาดังกล่าว ควรเริ่มดูแลกระดูกตั้งแต่วันนี้ โดยทำได้ง่ายๆ ด้วย 5 เคล็ด(ไม่)ลับที่เรานำมาฝากกัน
1. รับประทานอาหารแคลเซียมสูง
แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน สำหรับเด็กๆ แคลเซียมจะช่วยสร้างเสริมกระดูกและฟันให้เจริญเติบโต ทั้งความยาวและความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่วนผู้ใหญ่ก็ต้องการแคลเซียมเพื่อบำรุงกระดูกให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เปราะไม่ผุง่าย ดังนั้น เราจึงต้องให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม วิธีที่ง่ายที่สุดที่ร่างกายจะได้รับแคลเซียมคือดูดซึมจากอาหารที่กินเข้าไป อาหารที่อุดมไปดวยแคลเซียมได้แก่ นม ชีส ผักใบเขียว ปลาตัวเล็ก ถั่ว และธัญพืชต่างๆ แต่จากผลสำรวจพบว่าคนไทยจำนวนมากยังได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม เช่น แบบชงหรือแคปซูล จึงช่วยได้อีกทาง การทานแคลเซียมอย่างเพียงพอตั้งแต่อายุน้อยๆ ร่างกายจะสะสมแคลเซียมให้มีปริมาณที่หนาแน่น มีมวลกระดูกที่ดี เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพกระดูกและฟันก็จะยังแข็งแรง แม้มีการสูญเสียมวลหรือความหนาแน่นของกระดูกไปตามวัย แต่ก็ยังมีปริมาณที่เหลือเพียงพอ ทำให้กระดูกไม่เปราะบางและหักง่าย
2. เสริมวิตามินดี วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ต่อให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเข้าไปมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีวิตามินดี ร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้กับกระดูกและฟันได้ ดังนั้นเราต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีด้วย ซึ่งอาหารดังกล่าวได้แก่ ปลาทะเลอย่างแซลมอน ทูน่า รวมถึงไข่แดง แหล่งของวิตามินดีที่สำคัญอีกอย่างคือ แสงแดด เราควรให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าสักวันละ 15-30 นาที เพื่อให้ร่างกายดูดซึมและนำแคลเซียมไปใช้ได้ดี
3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นการบริหารกระดูกให้แข็งแรง ควรออกกำลังกายในแบบต้านแรงโน้มถ่วง เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน สำหรับผู้สูงอายุควรเดินเหยาะๆ หรือเต้นแอโรบิกเบาๆ แต่การออกกำลังกายหนักเกินไปหรือไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหากับข้อกระดูกได้ เวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
4. ควบคุมน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวมากเกินไป กระดูกตามจุดต่างๆ เช่น หัวเข่า ข้อเท้า จะต้องรองรับน้ำหนักปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะปวดเข่าปวดข้อตามมา เราจึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
5. เลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงทำร้ายกระดูก คาเฟอีนและนิโคตินเป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย ทั้งยังทำให้มวลกระดูกเสื่อมสลายได้ง่าย ถ้าไม่อยากให้กระดูกผุหรือเปราะ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และการสูบบุหรี่
https://www.avianceshop.com/health-supplements