การคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทุกๆท่านต้องมีความเกี่ยวพันและเคยเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลกันทั้งนั้น วันนี้มีเรื่องราวของคดีปกครองเกี่ยวด้วยการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลของหน่วยงานของรัฐ ของบัตรทองมาให้ศึกษากันครับ(
ทนายเชียงใหม่)
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 46/2557ข้อเท็จจริงในคดี ผู้ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐด้วยอาการแน่นหน้าอก ซึ่งขณะนั้นมีแพทย์ปฏิบัติหน้าที่เพียง 2 คน มีพยาบาล 3 คน โดยแพทย์เวรประเมินว่า ผู้ป่วยยังเดินและพูดได้ตามปกติ รอการรักษาได้และอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยในภาวะเร่งด่วนที่ต้องการการช่วยเหลือรองมาจากผู้ป่วยภาวะวิกฤติ แพทย์จึงต้องช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นที่อยู่ในภาวะวิกฤติและมีอาการหนักกว่าอีก 7 ราย จึงไม่อาจทำการรักษาผู้ถือบัตรได้ภายในเวลาอันควรตามภาวะของโรค ต่อมาอาการป่วยเปลี่ยนจากผู้ป่วยในภาวะเร่งด่วนมาเป็นผู้ป่วยในภาวะวิกฤติในเวลา 20 นาที หลังจากแพทย์ประเมินเบื้องต้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ฟ้องคดี (สามีของผู้ถือบัตร) จำนวน 80,000 บาท
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้เงินน้อยกว่าขั้นสูงของกรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่จ่ายไม่เกิน 120,000 บาทและไม่ครบถ้วนตามสิทธิที่มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2549 (ขณะเกิดเหตุ) ที่กำหนดอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรว่า ให้จ่ายได้ในอัตราไม่เกิน 200,000 บาท (ข้อ 5 และข้อ 6 (1) (2)) จึงฟ้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินที่เหลือให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การเสียชีวิตของผู้ถือบัตรมีผลมาจากการที่ไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาอันสมควรตามภาวะของโรคอันเนื่องมาจากมีแพทย์จำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วย และอาจมีผลจากการที่แพทย์เวรประเมินภาวะโรคเบื้องต้นว่าสามารถรอการรักษาได้ ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาล ดังนั้น การเสียชีวิตจึงเป็นผลโดยตรงมาจากเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดค่าเสียหายเบื้องต้นให้ผู้ฟ้องคดี 80,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าอัตราขั้นสูงกรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จึงเป็นการกำหนดเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาล และเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงของระบบการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มอีก จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มให้ผู้ฟ้องคดี 100,000 บาท(
ทนายความเชียงใหม่)
ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2555ข้อ 6 ประเภทของความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น
(1) เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท
(2) สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท
(3) บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ไม่เกิน 100,000 บาท
กรณีที่มีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากับอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1) และหากมารดาได้รับความเสียหายอื่นด้วย ก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายที่ได้รับนั้น
กรณีที่ความเสียหายไม่อาจจัดเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งตามวรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ได้ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขที่จะพิจารณาเทียบเคียงกับประเภทความเสียหายที่กำหนดไว้ได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 7 ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะหรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่หรือหน่วยงานหรือองค์กรอื่นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย
Tags : ทนายความเชียงใหม่